กทพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ตระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้



การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Opinion Hearing) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 เวลา 8.30 - 16.00 น. ณ ห้องคาร์ลตัน แกรนด์ บอลรูม ชั้น 9 โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพฯ สุขุมวิท เพื่อนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มาประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะหโครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นประธาน พร้อมด้วยนายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้ให้เกียรติมาร่วมฟังสัมมนา และมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้ประกอบการงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการจัดหาและติดตั้งระบบจัดการจราจร จัดเก็บค่าผ่านทาง ผู้ประกอบการบริหารจัดการกิจการทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษ และรถไฟฟ้า สถาบันการเงิน/ที่ปรึกษาการร่วมลงทุน สมาคมสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย สถาบันการศึกษา หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ สื่อมวลชน และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ทั้งนี้ มีผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจร่วมงาน จำนวน 214 คน ประกอบด้วย ผู้เข้าประชุม ณ สถานที่จัดงาน จำนวน 190 คน และประชุมผ่านโปรแกรม Zoom Webinar จำนวน 24 คน และในช่วงบ่ายในวันเดียวกัน ได้มีการสัมภาษณ์ภาคเอกชนที่ให้ความสนใจ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ด้านการเงินและรูปแบบการร่วมลงทุน มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 4 บริษัท รวม 17 คน และกลุ่มที่ 2 ด้านการก่อสร้าง การดำเนินงานบริหารจัดการ และบำรุงรักษา มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 2 บริษัท รวม 4 คน


กทพ. ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต โดยรัฐจะรับผิดชอบงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กทพ. ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา โครงการระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ สำหรับการก่อสร้างงานระบบ และการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation & Maintenance: O&M) ของโครงการทั้ง 2 ระยะ เช่น งานระบบ

จัดเก็บค่าผ่านทาง และระบบควบคุมจราจร เป็นต้น กทพ. ได้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของเอกชน 


ดังนั้น จึงได้เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ โดย มูลค่าเงินลงทุนโครงการ ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าก่อสร้างงานโยธา (รวมค่าควบคุมงานก่อสร้าง) และค่าก่อสร้างงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมจราจร (งานระบบ) ของโครงการ ระยะที่ 1 รวมประมาณ 16,759 ล้านบาท และโครงการ ระยะที่ 2 รวมประมาณ 45,930 ล้านบาท โดยค่าก่อสร้างงานระบบของโครงการทั้ง 2 ระยะ รวมประมาณ 2,230 ล้านบาท ส่วนค่าดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทั้ง 2 ระยะ (ระยะเวลา 30 ปี) รวมประมาณ 24,800 ล้านบาท สำหรับการจัดเก็บ

ค่าผ่านทางของโครงการ ระยะที่ 1 จัดเก็บค่าผ่านทางอัตราเดียว (Flat Rate) 

มีอัตราค่าผ่านทาง ณ ปีเปิดให้บริการ (ปี 2573) เท่ากับ 15/ 40/ 85/ 125 บาท สำหรับรถจักรยานยนต์/ รถ 4 ล้อ/ รถ 6-10 ล้อ/ รถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ และโครงการระยะที่ 2 จัดเก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง (Distance-Based Rate) โดยมีอัตราค่าแรกเข้า 40/ 80/ 120 บาท และค่าผ่านทางต่อระยะทาง 1.50/ 3.00/ 4.50 บาทต่อกิโลเมตร สำหรับรถ 4 ล้อ/ รถ 6-10 ล้อ/รถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ สำหรับการคาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ (ปี 2573) ประมาณ 69,386 คัน/วัน โดยโครงการมีอัตราผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) เท่ากับ 1.82% และโครงการนี้มีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ 18.85%



ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต นับเป็นทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนนเทพกระษัตรี (ทางหลวงหมายเลข 402) และถนนพระบารมี (ทางหลวงหมายเลข 4029) รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ตให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy